เปิดระเบียบศุลกากร เข้า-ออกประเทศต้องสำแดงสิ่งของใช้ขาไป-ขากลับ ทุกครั้ง
เป็นประเด็นถกเถียงกันมานานทั้งในโลกโซเชียลและไม่โซเชียลว่า นักท่องเที่ยวที่ “หิ้วของ” ติดตัวกลับเข้าไทย มูลค่าแค่ไหนต้องเสียภาษี มูลค่าแค่ไหนไม่เสียภาษี โดยเฉพาะการตีความว่าของที่หิ้วเข้ามานับรวมกับมูลค่าของใช้ประจำวันส่วนตัวด้วยหรือไม่
โดยเฉพาะนาฬิกา กล้องถ่ายรูป โทรศัพท์สมาร์ทโฟน เสื้อผ้า กระเป๋าเดินทาง ฯล ที่กลายเป็นประเด็นให้เกิดการพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรกับนักท่องเที่ยวอยู่บ่อย ๆ
ฝั่งเจ้าหน้าที่ก็ว่า กฎระเบียบมี เราทำตามหน้าที่ คุณหิ้วของมาเกินก็ต้องปรับ เป็นเรื่องปกติ ถ้าไม่อยากโดนปรับคุณก็ต้องศึกษากฎหมายก่อนเดินทาง ฝั่งนักท่องเที่ยวก็ว่า จะเอาของที่หิ้วมาไปรวมกับของที่เอาไปจากเมืองไทยได้อย่างไร อย่างนี้ก็ไม่ยุติธรรม กฎที่เอาเปรียบประชาชนอย่างนี้ควรจะมีการยกเลิกได้แล้ว
ลงทะเบียนของใช้ส่วนตัว กฎระเบียบที่ต้องทำก่อนเดินทางทุกครั้ง
หากของใช้ส่วนตัวที่นำออกไปมีมูลค่ารวมไม่เกิน 20,000 บาท (ไม่ได้เป็นในทางการค้า) และคิดว่าจะไม่ซื้ออะไรกลับมารวมกันเกิน 20,000 บาท (ไม่ได้เป็นในทางการค้า) ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปกรอกเอกสารสำแดงสิ่งของต่อศุลกากร
ส่วนใครที่คิดว่าจะนำสิ่งของ แกดเจ็ตต่าง ๆ เช่น กล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายวิดีโอ คอมพิวเตอร์แล็ปท็อป หรืออัญมณี เครื่องประดับ ตามระเบียบต้องลงทะเบียนสำแดงสิ่งของก่อนออกเดินทางทุกครั้ง ด้วยการลงทะเบียนหมายเลข Serial Numbers หรือลักษณะอื่น ๆ ของสิ่งของนั้น เช่น ลักษณะเด่น รอยตำหนิ รูปพรรณ ณ ที่ทำการศุลกากรขาออกนอกประเทศหลังตรวจรับ boarding pass แล้ว
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ แจ้งว่า หากเป็นการนำติดตัวไปอย่างละชิ้นก็ไม่จำเป็นต้องสำแดงสิ่งของก่อนออกเดินทาง แต่ๆ ถ้าคุณพกกล้องไปเที่ยวครั้งละ 4-5 ตัว หรือพกมือถือ ไอแพด ไปด้วยคราวละ 4-5 เครื่อง ในการออกนอกประเทศ ก็ควรไปสำแดง เพราะถ้าคุณจะนำมันกลับมาด้วยมันดูแล้วเหมือนไปขนมาขายมากกว่าของใช้ส่วนตัว
ซึ่งของทั้งหมดที่ได้ลงทะเบียนไว้จะได้รับการยกเว้นค่าภาษีเมื่อนำกลับเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้หากเดินทางที่สนามบินสุวรรณภูมิสามารถกรอกแบบฟอร์มที่ชั้น 4 ประตู 10 ผู้โดยสารขาออก ส่วนที่สนามบินดอนเมืองสามารถกรอกแบบฟอร์มได้ที่ชั้น 3 ประตูผู้โดยสารขาออกเช่นกัน
สำหรับการเดินทางออกนอกประเทศโดยสนามบินต่างจังหวัดสามารถสอบถามได้ที่สนามบินนั้น ๆ
ส่วนการเดินทางด้วยวิธีอื่น ๆ ต้องสำแดงสิ่งของที่ก่อนออกนอกประเทศที่ด่านศุลกากรในพื้นที่เช่นกัน
หากอยากทราบรายละเอียดของระเบียบปฏิบัติในการเดินทางออกนอกประเทศทั้งหมดจริง ๆ สามารถขอคัดเอกสารได้ที่ห้องสมุดประจำกรมศุลกากร โดยระบุว่าขอคัด ประมวลปฏิบัติขาออก หมายเลข 3030101
ของต้องห้ามนำออกประเทศ หลักการเดียวกับการเดินทางเข้าประเทศ
สำหรับของที่ห้ามนำออกจากประเทศไทย พบว่าไม่มีข้อแตกต่างจากระเบียบในการเดินทางเข้าประเทศ ได้แก่
- สารเสพติด
- วัตถุ หรือสื่อลามก
- ของลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้า ละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา
- ธนบัตร หรือเหรียญกษาปณ์ปลอม
- สัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ที่อยู่ในบัญชีควบคุมของอนุสัญญาไซเตส
ส่วนของต้องกำกับ หรือของบางชนิด เช่น พระพุทธรูป อาวุธปืน พืช สัตว์มี อาหาร ยา เครื่องสำอาง ชิ้นส่วนยานพาหนะ บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ในลักษณะการค้า) พวกนี้ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก่อนนำออกประเทศทุกครั้ง
พกเงินสดออกนอกประเทศได้ครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท
ส่วนเรื่องการนำเงินสดออกนอกประเทศจะมีกฎระเบียบเช่นเดียวกับการนำสดเข้าประเทศ คือ ผู้เดินทางหรือนักท่องเที่ยวสามารถนำเงินออกประเทศได้ครั้งละไม่เกินครั้งละ 50,000 หรือเทียบเท่า หากมากกว่านั้นต้องแจ้งจำนวนเงินที่แท้จริงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร ในแบบสำแดงเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Declaration Form) ก่อนออกเดินทางทุกครั้ง
ยกเว้นการเดินทางสู่ประเทศลาว เมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย และเวียดนาม จะได้รับอนุญาตให้นำเงินออกนอกประเทศได้ไม่เกิน 500,000 บาท
หมายเหตุ : ตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 112/2556 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินไทยที่ควบคุมการนำออกไปนอกราชอาณาจักร คือ การนำเงินตราไทยที่เป็นธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์อันมีมูลค่ารวมกันเกิน 450,000 บาท แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท ออกไปยังประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยและประเทศเวียดนาม และประเทศจีน(เฉพาะมณฑลยูนนาน) ต้องแจ้งรายการต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรขณะที่ผ่านด่านศุลกากร โดยแจ้งรายการตามแบบที่กรมศุลกากรกำหนด
กรณีเงินต่างประเทศสกุลอื่นๆ ที่เป็นธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ออกไปนอกราชอาณาจักร โดยมีมูลค่ารวมกันเกินกว่า 20,000 ดอลล่าร์สหรัฐหรือเทียบเท่า ต้องสำแดงรายการเงินตราต่างประเทศนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ ขณะผ่านด่านศุลกากร
ช่องเขียว
หลังจากเที่ยว หลังจากช้อปกันมาจนเต็มอิ่ม ในส่วนของการเดินทางเข้าประเทศไทย ทำได้ตามขั้นตอนปกติ ลงเครื่อง ยื่นพาสปอร์ต ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)
ใครที่ไม่มีของต้องสำแดงสามารถเดินตัวปลิวเข้าช่องไม่มีสิ่งของต้องสำแดง (Nothing to Declare) หรือช่องเขียวได้ทันที
ต้องย้ำว่าคุณต้องแน่ใจจริง ๆ ว่าไม่มีของต้องสำแดงจริง ๆ เพราะถ้าเจ้าหน้าที่ตรวจพบเจอของที่มีมูลค่าเกิน 20,000 หรือของผิดกฎหมายคุณโดนปรับอ่วมแน่นอน โดยมีรายละเอียดดังนี้
- มีของใช้ส่วนตัวสำหรับ 1 คน (ที่ไม่ใช่ของต้องห้าม ต้องกำกัด หรือเสบียง และไม่ได้เป็นในทางการค้า) มูลค่ารวมไม่เกิน 20,000 บาท (รวมของใช้ที่นำออกไปจากประเทศด้วย)
- บุหรี่ไม่เกิน 200 ม้วน หรือยาสูบไม่เกิน 250 กรัม หรือน้ำหนักรวมทั้งหมดทุกประเภท ไม่เกิน 250 กรัม
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เกิน 1 ลิตร หากเกินกว่าปริมาณที่กำหนด แนะนำให้หย่อนใส่กล่องที่กรมศุลกากรจัดไว้ ตัดปัญหาถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย
ช่องแดง
ในส่วนของนักท่องเที่ยวที่มีการลงทะเบียนสิ่งของสำแดงไว้ก่อนเดินทาง หรือมีสิ่งของที่ต้องเสียภาษีอากร ของต้องห้าม ของต้องจำกัด หรือของที่ไม่แน่ใจว่าต้องเสียภาษีหรือเป็นของต้องกำกัดติดตัวเข้ามา
คุณต้องเข้าที่ช่องมีสิ่งของต้องสำแดง (Goods to Declare) หรือช่องแดง เท่านั้น หากไฟล์ทที่เรานั่งมาไม่มีใครเต็มใจเข้าช่องนี้ด้วยตนเอง เจ้าหน้าที่จะสุ่มตรวจ และหากเปิดเจอสิ่งต้องห้าม หรือสิ่งที่ต้องเสียภาษีละก็ เตรียมตัว เตรียมใจเสียเงิน ไม่ว่าจะเป็นค่าภาษีหรือค่าปรับได้เลย โดยของที่ต้องเสียภาษี หรือของที่ผิดกฎหมายมีรายละเอียด
ที่นี้มาดูกันว่าของอะไรบ้าง ที่คุณต้องเสียภาษี หรือผิดกฎหมาย
- ของใช้ส่วนตัวที่มีปริมาณเกินกว่าที่ใช้คนเดียว และมีมูลค่ารวมทั้งหมดเกิน 20,000 บาท (สิ่งของที่นำไปจากประเทศไทยจะไม่ถูกนำมาคิดมูลค่า หากมีการสำแดงไว้ก่อนเดินทาง)
- สิ่งของที่นำมาเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์เพื่อการพาณิชย์ หรือ ทางการค้า หรือมีลักษณะทางการค้า
- ของต้องห้าม ได้แก่ สารเสพติด วัตถุหรือสื่อลามก ของลอกเลียนแบบละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา ธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ปลอม สัตว์ป่าสงวน
- ของต้องกำกับ เช่น พระพุทธรูป อาวุธปืน พืช สัตว์มี อาหาร ยา เครื่องสำอาง ชิ้นส่วนยานพาหนะ บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
กรณีสิ่งของที่ผู้โดยสารนำติดตัวมามีมูลค่ารวมทั้งหมดเกิน 80,000 บาท ผู้โดยสารต้องทำเอกสารปฏิบัติพิธีการศุลกากรที่ ส่วนบริการภาษีอากรเพิ่มเติม